Accessibility Tools

มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ร่วมกับศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ โคกหนองนาโมเดล สวนล้อมรักษ์ ฟื้นฟูอนุรักษ์วิถีชาวนาราชบุรี พัฒนานวัตกรรมการทำนา ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน ตอบโจทย์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

       เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 ที่ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ โคกหนองนา โมเดล สวนล้อมรักษ์ บ้านหนองกระทุ่ม หมู่ 10 ต.หินกอง จังหวัดราชบุรี นายอรรถพล พระลักษณ์ นายกเทศมนตรีตำบลหินกอง เป็นประธานเปิดโครงการ การพัฒนานวัตกรรมการทำนาด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น : วิถีชาวนาราชบุรี" ผศ.สุนิสา โพธิ์พรม ประธานสาขาวิชานิเทศศาสตร์และนวัตกรรมสื่อ คณะวิทยาการ มรภ.หมู่บ้านจอมบึง กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการ โดยสาขาวิชานิเทศศาสตร์และนวัตกรรมสื่อ ได้จัดโครงการตามแผนปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพ เพื่อสร้างกระบวนการทำงานในรูปภาคีเครือข่ายชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชา กิจกรรมนี้เป็นการต่อยอดกิจกรรมโครงการ U2T ตำบลหินกอง ยกระดับเชิงพื้นที่สู่ วิสาหกิจชุมชน โดยใช้ชื่อว่าวิสาหกิจชุมชนสวนล้อมรักษ์ บ้านหนองกระทุ่ม และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน ได้รับมาตรฐาน SHA โดยนายวิษณุ นิ่มนวล ประธานกลุ่ม เจ้าของสวนล้อมรักษ์ เป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมในชุมชน ในการนี้ ผศ.รพีพรรณ กองตูม รองอธิการบดี มรภ.หมู่บ้านจอมบึง พร้อมคณะอาจารย์ ผู้ประสานงาน หน่วยพัฒนาท้องถิ่นและบริการวิชาการ อาจารย์จากคณะวิทยาการจัดการ และนักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์และนวัตกรรมสื่อ รวมถึงเกษตรอำเภอเมือง พัฒนาชุมชนอำเภอเมือง สมาชิกสภาเทศบาลตำบลหินกอง ปราชญ์ชาวบ้านและภาคีเครือข่ายร่วมเกี่ยวข้าวและกิจกรรมในครั้งนี้

       สำหรับโครงการการพัฒนานวัตกรรม การทำนาด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น : วิถีชาวนาราชบุรี จัดขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ภูมิปัญญาการทำนาของตำบลหินกอง จังหวัดราชบุรี ประกอบด้วย เพลงลาน พวงมาลัย กระบวนการการทำนา ในขั้นตอนการเกี่ยวข้าว นวดข้าว และสีข้าว การอนุรักษ์อุปกรณ์ เครื่องมือการทำนาที่นับวันจะสูญหายไป และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ องค์ความรู้และภูมิปัญญาการทำนาของชุมชนตำบลหินกอง ให้เป็นที่รู้จักผ่านสื่อทุกช่องทาง เพื่อให้นักศึกษาของสาขาวิชานิเทศศาสตร์และนวัตกรรมสื่อ คณะวิทยาการจัดการ มีแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาการทำนา เพื่อพัฒนาให้ชุมชนตำบลหินกอง เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและท้องถิ่น ด้านการทำนา ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ปัจจุบันนี้ภูมิปัญญาการทำนาของชาวบ้านเริ่มลดน้อยลง และประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ก็เป็นประเพณีไทยที่งดงามอีกอย่างหนึ่งของชาวนาไทย ซึ่งคนอีสานเรียกว่า "ลงแขก" เป็นวัฒนธรรมประเพณี แห่งการเกื้อกูลกันของสังคมคนในอดีต ที่นับวันจะสูญหายจากสังคมไทย เพราะระบบเศรษฐกิจสมัยใหม ใช้เงินตราเป็นตัวกำหนด ในการแลกเปลี่ยนด้านต่างๆ เช่น ค่าจ้างแรงงาน กิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าว ไม่เพียงเป็นการสืบสานวัฒนธรรมการทำนาแบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงความสามัคคี และความกลมเกลียวของคนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์การทำนา แบบภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรรักษาไว้อีกด้วย
  ที่มา : งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร