พิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงวิจัย ครั้งที่ 11 “วิจัยและนวัตกรรม เพื่อชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (The Research and Innovation for Creative Communities towards Sustainable Development)
- หมวด: ข่าวกิจกรรมมหาวิทยาลัย
- เผยแพร่เมื่อ: วันพฤหัสบดี, 02 มีนาคม 2566 11:07
- ฮิต: 1724
วันที่ 1 มีนาคม 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงจัดประขุมวิชาการระดับชาติ ชูประเด็นวิจัยและนวัตกรรม เพื่อชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่โรงแรม ณ เวลา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี นายรณภพ เหลือง ไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงวิจัย ครั้งที่ 11 “วิจัยและนวัตกรรม เพื่อชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (The Research and Innovation for Creative Communities towards Sustainable Development) โดยผศ.อรรถพล อุสายพันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ตัวแทนผู้จัดงานกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ผศ.ดร.นฤมล ชูเมือง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมคณะผู้บริหาร อาจารย์และภาคีเครือข่ายจัดงานร่วมในพิธี ซึ่งก่อนพิธีเปิดงานมีชุดการแสดงจากสำนักศิลปและวัฒนธรรมในชุด ราชกัฏแห่งราชบุรินทร์ เทิดไท้สยามินทร์องค์ราชัน ด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2497 มีการพัฒนาและเติบโตตลอดระยะเวลายาวนานถึง 69 ปี วันที่ 1 มีนาคม 2566 นี้ จึงถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ดังนั้นสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวันสถาปนา จึงจัดการประชุมวิชาการระดับชาติราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงวิจัยขึ้น โดยครั้งแรกจัดในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556 และต่อเนื่องมาทุกปี ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 11 ในหัวข้อเรื่อง “วิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้คณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน และบุคคลที่สนใจ ได้นำเสนอผลงานวิจัยและผลงานวิชาการสู่สาธารณะ อันก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนายกระดับคุณภาพงานวิจัยและงานวิชาการ รวมทั้งแลกเปลี่ยนแนวคิด วิธีปฏิบัติ และประสบการณ์ในการวิจัย ซึ่งนำไปสู่การสร้างเครือข่ายการวิจัย ความก้าวหน้าทางวิชาการที่สามารถนำความรู้จากการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม กิจกรรมของการประชุมวิชาการครั้งนี้ ประกอบด้วย การนำเสนอผลงานวิจัยและผลงานวิชาการภาคบรรยายในสาขาการวิจัยต่าง ๆ ครอบคลุมถึง 6 สาขา ได้แก่ นวัตกรรมด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านบริหารธุรกิจและการท่องเที่ยว นวัตกรรมด้านการศึกษา นวัตกรรมด้านสาธารณสุขชุมชนและการแพทย์แผนไทย และนวัตกรรมด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และจากการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้จัดกลุ่มเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ทำให้มีภารกิจหลักที่จะต้องพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในทุกมิติ จึงทำให้มีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ (UBI) มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้สามารถที่จะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการชุมชน วิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายที่ได้รับการยกระดับพัฒนาได้นำผลิตภัณฑ์สินค้ามาจัดแสดงและจำหน่ายภายในงานแห่งนี้
ทั้งนี้ยังมีกิจกรรมบรรยายพิเศษที่น่าสนใจด้วยกัน 3 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นที่1 การบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง“กลไกการพัฒนาพื้นที่ในงานวิชาการรับใช้สังคม”โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ชวน เพชรแก้ว เมธีวิจัยอาวุโส โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ประจำปี พ.ศ. 2550 และ 2564 ประเด็นที่ 2 การบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “The trend of innovation and local research” โดย Prof. Alok Kumer Chakrawal, Ph,D., รองอธิการบดี จาก Guru Ghasidas Central University (GGCU), Bilaspur ประเทศอินเดีย และประเด็นที่ 3 การบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “รู้จักทรัพย์สินทางปัญญาและการพัฒนางานวิจัยสู่การจดทรัพย์สินทางปัญญา” โดยนายชัยรัตน์ จิตตสินนวา ตัวแทนสิทธิบัตร และการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกหลากหลายสถาบัน ในสาขาที่เกี่ยวข้อง ให้ความอนุเคราะห์ในการกลั่นกรอง คัดสรร รวมถึงตรวจสอบความถูกต้องของบทความวิจัยและบทความวิชาการ รวมทั้งวิพากษ์บทความที่จะนำเสนอในวันนี้ โดยมีผลงานที่นำเสนอจาก 6 สาขา จำนวนมากถึง 120 เรื่อง จะเห็นได้ว่าจำนวนบทความได้เพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งนั่นคือผลสะท้อนถึงคุณภาพของงานวิชาการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงตระหนักและให้ความสำคัญยิ่ง นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากเครือข่ายมหาวิทยาลัย สมาคมวิชาการและสมาคมวิชาชีพ จาก 11 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ IEEE SMC THAILAND CHAPTER สภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมพัฒนาวิชาชีพครูแห่งประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้
ที่มา : | งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร |