Accessibility Tools

ทีม U2T มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงจับมือศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้างบางกล้วย ตำบลจอมประทัด จัดอบรมการขอมาตรฐานสินค้าอาหารและผลิตอาหารปลอดภัยรองรับการขอ อย.

            เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 คณะทำงานทีมU2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบลจอมประทัด มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการขอมาตรฐานสินค้าอาหารและการผลิตอาหารปลอดภัยรองรับการขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหาร(อย.) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โครงการยกระดับเศรษฐกิจสังคม รายตำบลแบบบูรณาการตำบลจอมประทัด โดยเภสัชกรกนกพร มณีมาส เภสัชกรชำนาญการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรีเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการพัฒนาสถานที่ผลิตอาหารตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Primary GMP) เพื่อขออนุญาตผลิตอาหารพร้อมกันนี้ได้มีการตรวจสถานที่และให้คำแนะนำในการประบวนการขออนุญาต ให้ผู้เข้าร่วมการอบรม ซึ่งมีนายสมศักดิ์ ประดับไทย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1บ้านบางกลวย ตำบลจอมประทัด นางเบญมาศ เจียงแจ่มจิตร ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตำบลจอมประทัดและสมาชิกเข้าร่วมการอบรม ทั้งนี้อาจารย์รัชนิดา รอดอิ้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์และนวัตกรรมสื่อ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงผู้รับผิดชอบโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลจอมประทัดและคณะทำงานทีมU2T ตำบลจอมประทัดเป็นผู้ประสานงานในการจัดการอบรม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าของชุมชนและมีความเข้าใจในการขออนุญาตสถานที่ผลิตอาหาร
            สำหรับชุมชนบ้านบางกล้วย ตำบลจอมประทัดมีผลิตภัณฑ์กล้วยอบม้วนและผลิตภัณฑ์อื่นๆที่จะมีการขออย.เพื่อพัฒนายกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐานอันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ซึ่งในขั้นตอนต่อไปก็จะมีการจัดทำเอกสารต่างๆพร้อมข้อมูลผลิตภัณฑ์ สถานที่การผลิตอาหารเพื่อเสนอขออย.จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรีต่อไป ในส่วนตำบลจอมประทัด อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรีเป็น 1 ใน35 ตำบลพื้นที่จังหวัดราชบุรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการสำหรับโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่จังหวัดราชบุรีมีการจ้างงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มนักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด 19 เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมครอบคลุมในประเด็นต่างๆตามปัญหาและความต้องการของชุมชน รวมถึงการพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในชุมชน และให้มีการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ภาพข่าว : วัฒนา อ่วมเนตร | เขียนข่าว : วัฒนา อ่วมเนตร

  ที่มา : งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร